การปิดการขาย
การปิดการขาย จำเป็นต้องทำเมื่อมีการทำการซื้อขายสินค้าหรือบริการทุกประเภท แต่เราจะสามารถปิดการขายได้อย่างไร เราควรศึกษาคำว่า “การปิดการขาย” กันก่อน
ความหมายของการปิดการขาย
การสรุปผลการเสนอขายเป็นเทคนิคขั้นสุดท้ายที่ดึงความสนใจของลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ด้วยความพึงพอใจ การปิดการขายจะกระทำภายหลังจากการที่พนักงานขายสามารถขจัดข้อโต้แย้งของลูกค้าที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นเทคนิคของการขายที่เรียกร้องให้ลูกค้ามีการกระทำเกิดขึ้น การปิดการขายทุกครั้งไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป พนักงานขายจำนวนมากที่ประสบความล้มเหลวในการขาย เนื่องจากการขาดหลักการที่ดีในการปิดการขาย ดังนั้นการปิดการขายจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการเสนอขายแต่ละครั้ง
ความสำคัญของการปิดการขาย
ความสำคัญของการปิดการขาย (The important closing the sales) สำคัญต่อพนักงานขายอย่างมากทั้งต่อการประกอบอาชีพ การขาย รายได้ และความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพ พนักงานขายจะต้องเรียนรู้การปิดการขายที่มีประสิทธิภาพ พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเสนอขาย เพื่อเพิ่มทักษะให้มากขึ้น โดยทั่วไปความสำคัญของการปิดการขายมีดังนี้
- สร้างรายได้ให้แก่พนักงานขาย
โดยทั่วไปพนักงานขายที่สามารถทำยอดขายได้สูง จะได้ผลตอบแทนที่สูงตามไปด้วย พนักงานขายจึงมีความขยันที่จะออกพบผู้มุ่งหวังและพยายามปิดการขายให้ได้ หรือบริษัทจะเป็นผู้กระตุ้นโดยการให้ค่าคอมมิชชั่น และรางวัลพิเศษ เพื่อให้พนักงานขายมีความขยัน และเกิดการแข่งขันกันเองระหว่างพนักงานขาย อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าผลดีจะตกอยู่กับพนักงานขายที่ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น พนักงานขายบางคนอาจจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำงานขายอย่างเดียวก็มีไม่น้อย
- เป็นเครื่องวัดความสำเร็จของพนักงานขาย
ความสำเร็จของการปิดการขายจะสร้างความภาคภูมิใจ และความกระตือรือร้นให้ปฏิบัติงานขายต่อไปอย่างมีกำลังใจนอกจากนั้นการปิดการขายได้ยังเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จในการประกอบอาชีพการขายอีกด้วย ถ้าต้องการพัฒนาศักยภาพการทำงาน และมีโอกาสเติบโตในสายอาชีพการขาย พนักงานขายจะต้องเป็นผู้ที่มีทักษะการปิดการขายที่ดีด้วยเช่นกัน
- สร้างยอดขายให้กับบริษัท
การสร้างยอดขายไม่ใช่เพียงแต่พนักงานขายจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการปิดการขาย บริษัทก็เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากยอดขายที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน การสร้างยอดขายที่ดีของพนักงานขาย บริษัทก็จะสามารถสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีตามมาด้วย และยังเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จของบริษัทในการบริหารการขาย
4.ทำให้ผู้มุ่งหวังได้รับความพึงพอใจจากการตัดสินใจซื้อ
การปิดการขายจะกระทำก็ต่อเมื่อผู้มุ่งหวังเกิดความกระจ่างในรายละเอียดสินค้ามากพอแล้ว และผู้มุ่งหวังเกิดความสนใจสินค้าอย่างจริงจัง พนักงานขายจึงสรุปการขายและขอคำสั่งซื้อ ซึ่งหมายถึงผู้มุ่งหวังจะได้รับความพึงพอใจจากการตัดสินใจซื้อในครั้งนั้น
- ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานขายกับผู้มุ่งหวัง
การขายไม่ได้เสร็จสิ้นหลังจากปิดการขายได้ แต่การปิดการขายที่มีประสิทธิภาพจะต้องสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้มุ่งหวังด้วยการสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ ความพึงพอใจ เหล่านี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับผู้มุ่งหวัง ซึ่งจะตามมาด้วยการซื้อซ้ำ การแนะนำผู้มุ่งหวังรายให้กับพนักงานขาย และการช่วยประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของบริษัทให้กับบุคคลทั่วไป
วงจรของการปิดการขาย
วงจรของการปิดการขายจะแสดงลำดับขั้นตอนของการเสนอขาย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการขายไปจนถึงขั้นของการปิดการขาย
สาเหตุของการปิดการขายที่ล้มเหลว
พนักงานขายจำนวนมากที่มีความมั่นใจว่าตัวเองได้ทำการเสนอขายครบถ้วนตามกระบวนการขายแล้ว ทั้งการเข้าพบผู้มุ่งหวัง แนะนำตัวเองด้วยความสุภาพ มีเทคนิคการเสนอขาย และการสาธิตการขายได้ ตอบข้อโต้แย้งทุกข้อของผู้มุ่งหวังแล้ว ทำไมผู้มุ่งหวังยังไม่ตัดสินใจซื้อ หากมองด้านผู้มุ่งหวังอาจจะเกิดแนวคิดปฏิเสธสินค้าหรือบริการนั้น โดยมองว่ายังไม่เหมาะสมสำหรับการตัดสินใจซื้อ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของความล้มเหลวในการปิดการขาย และยังมีอีกหลายสาหตุที่ทำให้การปิดการขายไม่ประสบความสำเร็จ มีดังนี้
- พนักงานขายกลัวความล้มเหลว
พนักงานขายหลายคนมักกลัวการตอบปฏิเสธของผู้มุ่งหวัง จนทำให้การเสนอขายและการสาธิตสินค้าตึงเครียด การตอบข้อโต้แย้งจะวิตกกังวลว่าผู้มุ่งหวังจะเข้าใจและเชื่อมั่นในสินค้าหรือไม่ พนักงานขายจึงลืมประเด็นที่ต้องปิดการขาย หรือใช้เวลาไปกับการเสนอขายมากเกินไป เพราะกลัวผู้มุ่งหวังจะปฏิเสธการซื้อ ทำให้พนักงานไม่กล้าที่จะปิดการขาย
- พนักงานขายขาดความมั่นใจ
ความล้มเหลวในการปิดการขาย บางครั้งอาจจะเกิดจากพนักงานขายขาดความเชื่อมั่น ส่งผลทำให้ขาดประสิทธิภาพในการเสนอขาย อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดความล้มเหลวในการปิดการขาย ส่วนสาเหตุที่ทำให้พนักงานขายขาดความเชื่อมั่นมีดังนี้
2.1 พนักงานขายขาดความมั่นใจในตัวเอง
2.2 พนักงานขายขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง
2.3 พนักงานขายขาดความเชื่อมั่นในสินค้า
2.4 พนักงานขายขาดความเชื่อมั่นในบริษัท
- การเตรียมความพร้อมมีน้อยเกินไป
การปฏิบัติงานตามกระบวนการขายจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายๆ เรื่อง เช่น การแสวงหาผู้มุ่งหวัง การเตรียมตัวก่อนการเข้าพบ การเข้าพบ การเสนอขายและการสาธิตการขาย การขจัดข้อโต้แย้ง เป็นต้น เพราะความพร้อมในขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานขายเกิดความพร้อมในการปิดการขาย
- ขาดความชำนาญในการปิดการขาย
พนักงานขายฝึกหัดที่ขาดประสบการณ์การขาย มักจะล้มเหลวในการปิดการขายค่อนข้างบ่อย สาเหตุมาจากการไม่ชำนาญในการปิดการขาย ขาดเทคนิคการจูงใจและการสรุปประเด็นเพื่อให้ผู้มุ่งหวังตัดสินใจซื้อ
- สื่อสารกับผู้มุ่งหวังทางเดียว
การพูดเพื่อการขาย พนักงานขายจะต้องพูดในสิ่งที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อการปิดการขาย และควรรับฟังเพื่อเปิดใจผู้มุ่งหวังให้แสดงความต้องการที่แท้จริงของตนเองออกมา ต้องหลีกเลี่ยงการพูดและสรุปเอง ตลอดทั้งการเสนอขายโดยทำให้ผู้มุ่งหวังไม่มีโอกาสพูดและเต็มใจซื้อสินค้าเลย
- ความเกรงใจผู้มุ่งหวัง
พนักงานขายบางคนเป็นคนชอบเกรงใจผู้อื่น ทุกครั้งที่ต้องปิดการขายก็จะเกิดความเกรงใจตลอดเวลาว่า ตนเองเป็นสาเหตุให้ผู้มุ่งหวังเสียเงินค่าสินค้า หรือผู้มุ่งหวังเป็นคนช่วยเหลือตนเองให้มีรายได้จากการขาย ซึ่งสาเหตุของการเกรงใจเหล่านี้จะเป็นเหตุผลหนึ่งที่พนักงานขายไม่กล้าปิดการขาย
ลักษณะของการปิดการขายที่ดี
การปิดการขายที่ดีจะต้องทำให้พนักงานขายสร้างยอดขายจากความพึงพอใจของผู้มุ่งหวัง ลักษณะการปิดการขายของพนักงานแต่ละคนไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า การอบรมของแต่ละบริษัท และความชำนาญในการปิดการขาย ลักษณะของการปิดการขายที่ดีมีลักษณะดังนี้
- ปิดการขายด้วยความพึงพอใจ
ผู้มุ่งหวังจะต้องเกิดความพึงพอใจสินค้าที่ซื้อและบริการของพนักงาน ซึ่งจะตามมาด้วยการซื้อซ้ำในอนาคตและการแนะนำผู้มุ่งหวังรายอื่นๆ ให้แก่พนักงานขาย
- ผู้มุ่งหวังเป็นผู้ที่ตัดสินใจ
พนักงานขายเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลและกระตุ้นให้ผู้มุ่งหวังเกิดความสนใจ เมื่อผู้มุ่งหวังรับทราบรายละเอียดมากพอสมควรแล้ว ผู้มุ่งหวังจะทำการตัดสินใจ ซึ่งพนักงานขายไม่ควรบีบบังคับให้ผู้มุ่งหวังรีบตัดสินใจซื้อสินค้าตามคำยืนยันของพนักงานขาย ควรปล่อยให้ผู้มุ่งหวังตัดสินใจด้วยตนเอง
- แสดงถึงคุณสมบัติเด่นของสินค้า
ก่อนการปิดการขายพนักงานขายจะต้องพยายามชูจุดเด่นของสินค้า เพื่อให้ผู้มุ่งหวังคล้อยตามและประเมินผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการตัดสินใจซื้อ เมื่อเทียบกับเงินที่ต้องเสียไป
- ลดทางเลือกสินค้าให้น้อยลง
ลำดับขั้นสุดท้ายของการเสนอขายพนักงานขายจะต้องพยายามตัดตัวเลือกของสินค้าให้เหลือน้อยลง เพื่อความสะดวกของผู้มุ่งหวังในการตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วยิ่งขึ้น แต่พนักงานขายต้องระมัดระวังอย่าไปก้าวก่ายกับการตัดสินใจของผู้มุ่งหวังเด็ดขาด
- เป็นไปตามแผนการขาย
การวางแผนการขายจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้พนักงานขายมีการทำงานที่เป็นระบบตั้งแต่การวางแผนการขาย การเตรียมตัวเพื่อเข้าพบ การเข้าพบเพื่อเสนอขาย การปิดการขาย และการลาจากพนักงานขายจะต้องศึกษากระบวนการวางแผนการขายให้เข้าใจ และปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านั้น จะทำให้การปิดการขายเกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การทดลองการปิดการขาย
การทดลองการปิดการขาย เป็นการใช้ความพยายามปิดการขายในระหว่างการเสนอขาย และการสาธิตการขายที่กำลังดำเนินอยู่ แต่ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดของการเสนอขาย ทั้งนี้เพื่อดูท่าทีของผู้มุ่งหวังว่ามีความสนใจมากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังประเมินท่าทีของผู้มุ่งหวังว่ามีโอกาสปิดการขายได้หรือไม่
หลักสำคัญของการทดลองการปิดการขาย
- ควรปิดการขายโดยให้ตัดสินใจเอง การติดสินใจซื้อหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของลูกค้า
- ควรปิดการขายตั้งแต่ต้น
- ควรปิดการขายทุกครั้งที่ถูกปฏิเสธ ก็ต้องใช้ความสุภาพ และหาข้อมูลที่เป็นสาเหตุที่แท้จริง
- ควรพยายามทดลองปิดการขายอยู่เสมอ
- การปิดการขายโดยการยกย่องให้เกียรติลูกค้าอยู่เสมอ จะทำให้ลูกค้าเกิดความพอใจและประทับใจ เกิดความสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
เทคนิคการปิดการขาย
เทคนิคการปิดการขายเป็นสูตรสำเร็จ พนักงานขายสามารถนำเอาเทคนิควิธีไปประยุกต์กับการปิดการขายได้ จะเลือกใช้วิธีการใด ขึ้นอยู่กับผู้มุ่งหวังและจังหวะของการเสนอขาย ซึ่งเทคนิคต่างๆ มีดังนี้
- การปิดการขายโดยตรง (Direct close)
เป็นการปิดการขายที่ไม่ต้องการวิธีการอะไรมาก เมื่อพนักงานขายได้นำเสนอรายละเอียดการขายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พนักงานขายจะใช้ประสบการณ์ การสังเกตข้อโต้แย้ง และขอคำสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง
- การปิดการขายด้วยวิธีทึกทักว่าซื้อ (Assumption close)
การปิดการขายวิธีนี้จะกระทำหลังจากที่พนักงานขายได้อธิบายรายละเอียดและจุดเด่นของสินค้า และเมื่อผู้มุ่งหวังทำการต่อรองเงื่อนไขบางอย่าง พนักงานขายก็จะสันนิษฐานเองว่า ผู้ซื้อมีความต้องการในสินค้านั้นแล้ว
- การปิดการขายด้วยวิธีการหาจุดเล็กๆ (Closing on a minor point)
บางครั้งพนักงานขายได้เสนอจุดขายไปหลายจุด แต่ผู้มุ่งหวังยังไม่ตัดสินใจซื้อ มีท่าที่ลังเลและไม่แน่ใจ พนักงานขายอาจเลือกใช้วิธีการปิดการขาย โดยนำเอาจุดขายเล็กๆ นำมาปิดการขายโดยให้ผู้มุ่งหวังเลือกสินค้าจากจุดใดจุดหนึ่ง เป็นต้น
- การปิดการขายด้วยวิธีให้ผู้มุ่งหวังเห็นด้วย (The continuous yes-close)
การปิดการขายวิธีนี้พนักงานจะพยายามอธิบายจุดสำคัญหรือจุดเด่นของสินค้าและสอบถามความคิดเห็นของผู้มุ่งหวังเพื่อให้คล้อยตาม และเมื่อถึงจังหวะหรือโอกาสที่ผู้มุ่งหวังมีความเห็นด้วยกับจุดเด่นของสินค้า พนักงานจะถือโอกาสปิดการขาย
- การปิดการขายด้วยวิธีการตัดโอกาสทางเลือก (Narrowing the choice)
พนักงานขายจะพยายามตัดสินค้าตัวอื่นที่ไม่จำเป็นออกให้เหลือเฉพาะสินค้าที่ผู้มุ่งหวังสนใจ และเสนอให้ผู้มุ่งหวังตัดสินใจเลือกในสินค้าและบริการนั้นๆ
- การปิดการขายด้วยสิ่งจูงใจพิเศษ (Premium close)
เป็นวิธีการปิดการขายที่พนักงานขายนิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย และถือว่าเป็นข้อเสนอพิเศษ เพื่อกระตุ้นความสนใจ และเร่งเร้าให้ผู้มุ่งหวังรีบตัดสินใจซื้อ โดยนำเอาสิ่งจูงใจพิเศษมาเป็นเงื่อนไขในการปิดการขาย
- การปิดการขายด้วยวิธีของดีมีน้อย (Standing room only close)
วิธีนี้พนักงานขายจะกระตุ้นให้ผู้มุ่งหวังให้รีบตัดสินใจซื้อ เนื่องจากสินค้าสั่งมาจำหน่ายมีเพียงไม่กี่ชิ้น หรือตอนนี้เหลือสินค้าเพื่อจำหน่ายเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้มุ่งหวังเกิดความสนใจและรีบตัดสินใจซื้อ
- การปิดการขายด้วยวิธีทางเลือกสุดท้าย (Last chance close)
การปิดการขายประเภทนี้พนักงานขายจะพยายามอธิบายให้รายละเอียดที่จะกระตุ้นให้ผู้มุ่งหวังรู้สึกอยากได้สินค้าอย่างมาก เนื่องจากหากไม่รีบตัดสินใจซื้อสินค้าอาจะถูกผู้มุ่งหวังคนอื่นซื้อไปแน่นอน ซึ่งจะมีผลทำให้การปิดการขายมีโอกาสมากขึ้น
- การปิดการขายด้วยวิธีการทบทวนจุดขาย (Reviewing selling points)
เป็นวิธีการปิดการขายโดยพนักงานจะทบทวนบทสรุปจุดขายของสินค้าที่ได้เสนอขายไปแล้ว โดยอาจจะสรูปเป็นจุดเด่นของสินค้าทีละข้อ แล้วสังเกตความสนใจของผู้มุ่งหวัง และหาโอกาสในการปิดการขายทันที
- การปิดการขายด้วยวิธีการซื้อไปทดลองก่อน (The trial order)
วิธีนี้เหมาะกับลูกค้าที่ยังไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและยังมีท่าทีที่ลังเลอยู่ พนักงานขายอาจจะใช้วิธีให้ผู้มุ่งหวังซื้อสินค้าไปทดลองใช้ดูก่อน ถ้าหากว่าลูกค้าพึงพอใจก็สามารถซื้อสินค้าในปริมาณเพิ่มขึ้นได้
- การปิดการขายด้วยวิธีการแบบงบดุล (Balance sheet close)
บางครั้งเรียกว่าวิธีการปิดการขายบัญชีที สาเหตุที่เรียกวิธีการปิดการขายแบบนี้ เนื่องจากพนักงานขายจะพยายามแยกเหตุผลที่ผู้มุ่งหวังควรจะซื้อและไม่ควรจะซื้อ ซึ่งจะมีเหตุผล 2 ด้าน เพื่อให้ผู้มุ่งหวังพิจารณาและตัดสินใจ ดังนั้นพนักงานขายต้องแสดงน้ำหนักของเหตุผลที่ควรตัดสินใจซื้อมากกว่าเหตุผลในการที่จะไม่ตัดสินใจซื้อให้ลูกค้าได้เห็น
วิธีการที่สามารถช่วยให้การปิดการขายเร็วยิ่งขึ้น
- การขายในยุคการแข่งขันสูงที่ควบคู่กับเศรษฐกิจฝืดๆ แบบนี้ คงยากหรือไม่ก็ตัดสินใจนาน กว่าที่ลูกค้าจะยอมควักเงินออกจากกระเป๋ามาซื้อสินค้าของคุณ เราเลยมีสูตรการปิดการขายที่ควรลองนำไปใช้ดู ไม่แน่ยอดขายของคุณอาจจะดีขึ้นก็เป็นได้
- เทคนิคการปิดการขายยุคนี้ อาจต้องอาศัยเรื่องของโปรโมชั่นหนักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นลด แลก แจก หรือแถม ล้วนสร้างแรงกระตุ้นและจูงใจลูกค้าได้เป็นอย่างดี แต่ทีนี้ คุณอาจต้องมีลูกเล่นในการเสนอโปรโมชั่นต่อลูกค้าที่แยบยลสักนิด
- สำหรับเทคนิคแรกที่แนะนำก็คือ กลยุทธ์ “ของแถม” นั่นเอง ถือเป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้ในการปิดการขายที่อมตะนิรันดร์กาลมาก เพราะถูกใช้มาทุกยุคทุกสมัย เพราะใครๆ ก็ชอบของแถม ไม่ว่าจะเป็นของแถมที่มีมูลค่าสูงหรือของแถมเล็กๆ น้อยๆ เพราะจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองได้รับอะไรที่คุ้มค่ามากกว่าปกติ แต่รูปแบบของแถมอาจเปลี่ยนไปตามกาลเทศะและความเหมาะสม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- Give people deadline to order.
ต้องมีการกำหนด วันสิ้นสุดโปรโมชั่น เช่น บอกลูกค้าว่า ถ้าซื้อก่อนสิ้นเดือนนี้ จะได้ราคาพิเศษ หรือได้ของแถม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ซื้อทำการตัดสินใจซื้อโดยเร็วภายในเงื่อนกำหนดเวลานั้น
- Offer people a money back guarantee.
“รับประกัน ไม่พอใจยินดีคืนเงิน” เป็นข้อเสนอที่ควรจะมีไว้ให้ลูกค้า หากคุณมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นในตัวสินค้าของลูกค้า และหากคุณมีสินค้าที่มีคุณภาพดีจริงๆ การรับประกันจะช่วยให้ถูกค้าเกิดความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น แต่ควรกำหนดช่วงเวลาไว้ด้วย เช่น 30 วัน, 60วัน, 1ปี หรือตลอดอายุการใช้งาน
- Offer a free on-site repair service for products you sell.
เมื่อลูกค้าคิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อสินค้าไม่สามารถใช้งานได้ อาจจะต้องนำสินค้าส่งช่อมที่ศูนย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่อยากเจอจริงๆ ดังนั้น การเสนอเงื่อนไขนี้เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และช่วยเพิ่มความมั่นใจ และแก้ปัญหาให้ลูกค้าในอนาคตได้ ช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อได้เร็วยิ่งขึ้น
- Publish testimonials on your ad copy.
ใส่คำชมของลูกที่เคยใช้งานสินค้ามาแล้ว ไว้ในโฆษณาด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะให้ความน่าเชื่อถือได้ดี หากมีจำนวนยิ่งมากเท่าใดยิ่งดี ข้อสำคัญคือ ต้องใช้ข้อมูลจริง ชื่อ นามสกุลจริง ที่อยู่ หรือ บริษัทจริงๆ และหากเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว จะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้ดียิ่งขึ้น
- Give people free bonuses.
ของแถมใครๆ ก็ชอบ ควรจะมีของแถมเล็กๆ น้อยๆ ให้กับลูกค้าที่ซื้อสินค้าด้วย เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า ได้มากกว่าที่เสียไป เช่น หนังสือที่เกี่ยวข้องกับสินค้า เช่น ซื้อโน้ตบุ๊ค แถมหนังสือ ดูแลโน๊ตบุ๊คอย่างถูกวีธี, ซื้อบ้านมือสอง จัดแต่งสวนตามความชอบ เป็นต้น
- Allow people to make money reselling the product or service.
ควรเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถได้รับเปอร์เซ็นต์ จากการแนะนำให้เพื่อนๆ ให้ซื้อสินค้าหรือบริการในภายหลังได้อีก หรือเรียกว่า Affiliate Program ซึ่งหากจะให้ได้ผล Affiliate Program จะต้องได้รับผลประโยชน์ที่ดึงดูด
- Offer free 24 hour help with all products yousell.
หากลูกค้ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้สินค้า หรือบริการของท่านอย่างรอไม่ได้ ควรจะมีบริการ Call Center หรือ 7/24 Support (7 วันต่อสัปดาห์ 24 ชั่วโมงต่อวัน) ให้กับลูกค้าเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการช่วยเหลือ ให้ข้อมูล การแก้ปัญหาในเบื้องต้นก่อนง่ายๆ อาจจะใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของท่านเองก็ได้ หรืออาจจะเป็นทางอีเมล์ หรือ Fax ควรมีการแจ้งไว้ด้วยว่าจะตอบกลับภายในกี่ชั่วโมง หรือกี่วัน
- Provide free shipping with all orders.
ให้บริการสินค้าทุกชิ้นส่งถึงบ้านฟรี หรือ หากไม่สามารถทำได้ ก็ควรกำหนดวงเงินสั่งซื้อสินค้าขั้นต่ำที่จะได้รับบริการนี้ เช่น สั่งซื้อครบ 500 บาท ค่าส่งฟรี เป็นต้น
- Give away a free sample of your product.
แจกสินค้าทดลองให้ใช้ฟรี (ถ้าทำได้เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง) เพราะเหมือนกับการให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ก่อน หากสินค้าดี ลูกค้าพอใจ เค้าก็ยินดีที่จะสั่งซื้อ โดยไม่ต้องรีรอเลย เพราะใช้งานได้ดีจริงๆ อยู่แล้ว
- Offer a buy one get one free deal.
ถ้าคุณมีสินค้ามากกว่า 1 รายการ การเสนอเงื่อนไข ซื้อ 1แถม 1 หรือ ซื้อ 1แล้วลดทันที 50% เมื่อซื้อสินค้าชิ้นต่อไปจะเป็นการส่งเสริมให้ลูกค้า อยากจะซื้อสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมอีก จะช่วยเร่งยอดขายได้อีกมากเลยทีเดียว
เกาะติดข่าวสารการตลาดออนไลน์ เทคนิคการโปรโมทโฆษณา
แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @inDigital ที่นี่
Fanpage : INdigital การตลาดออนไลน์
เว็บไซต์ : www.indigital.co.th
ที่มา : elearning